ขั้วฟ้า

การหาตำแหน่งของดาวฤกษ์ขึ้นอยู่กับภาพของทรงกลมฟ้าที่หมุนไปตลอดเวลารอบแกนของโลกโดยครบรอบในเวลาประมาณ 23 ชั่วโมง 56 นาที (ในความเป็นจริง ทรงกลมฟ้าไม่ได้หมุน แต่เป็นโลกที่หมุนรอบตัวเอง) จุด 2 จุดบนทรงกลมฟ้าที่ตรงกับแนวแกนหมุนของโลกเรียกว่า ขั้วฟ้า(ขั้วฟ้าเหนือและขั้วฟ้าใต้) เราสามารถหาตำแหน่งขั้วฟ้าเหนือได้ง่ายเพราะมีดาวสว่างดวงหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ส่วนบริเวณขั้วฟ้าใต้ไม่มีดาวสว่างที่สังเกตเห็นได้อยู่เลย โปรแกรมนี้แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งของขั้วฟ้าขึ้นอยู่กับผู้สังเกตที่อยู่บนเส้นรุ้งต่างๆอย่างไร

ด้านซ้ายแสดงภาพของโลก มีเส้นศูนย์สูตร(Equator) ขั้วโลกเหนือ(North Pole) ขั้วโลกใต้(South Pole) และแกนหมุนของโลก ระนาบระดับ(horizontal plane) เป็นเส้นที่ลากสำหรับผู้สังเกตบนซีกโลกเหนือ ลูกศรสีแดงแสดงทิศเหนือ ลูกศรสีเขียวแสดงทิศใต้ การเปลี่ยนตำแหน่งผู้สังเกตทำได้โดยกดปุ่มเมาส์ขณะที่ลากไป จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระนาบระดับและทิศทางของจุดเหนือศีรษะ(Zenith) ซึ่งใช้ลูกศรสีม่วงรวมทั้งทิศทางของขั้วฟ้า(ลูกศรสีน้ำเงิน) แปรเปลี่ยนตามไปด้วย

ด้านขวาแสดงภาพที่ปรากฏให้ผู้สังเกตเห็น ระนาบระดับวาดอยู่ในแนวระดับ และจุดเซนิทอยู่บนทรงกลมฟ้าตรงศีรษะผู้สังเกตขึ้นไปพอดี ทิศทางของลูกศรสีน้ำเงินจะบอกความสูงของขั้วฟ้าเหนือเส้นขอบฟ้า(Horizon)

This browser doesn't support HTML5 canvas!
ผลลัพธ์: ความสูงของขั้วฟ้าเหนือเส้นขอบฟ้า(วัดเป็นองศา) เท่ากับเส้นรุ้งทางภูมิศาสตร์ของผู้สังเกต

ถ้าเราอยู่ทางซีกโลกเหนือ จะเห็นขั้วฟ้าเหนืออยู่เหนือขอบฟ้าด้านทิศเหนือ และดาวฤกษ์ต่างๆจะปรากฏหมุนรอบขั้วฟ้าในทิศทวนเข็มนาฬิกา ถ้าเราอยู่ทางซีกโลกใต้จะเห็นขั้วฟ้าใต้อยู่เหนือเส้นขอบฟ้าด้านทิศใต้และดาวฤกษ์ต่างๆจะปรากฏหมุนรอบขั้วฟ้าในทิศตามเข็มนาฬิกา
ถ้าเรายืนอยู่ที่ขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ ขั้วฟ้าจะปรากฏอยู่เหนือศีรษะเราพอดี แต่ถ้าอยู่ที่เส้นศูนย์สูตร ขั้วฟ้าทั้งสองจะปรากฏอยู่ที่เส้นขอบฟ้า